แนะนำทนายความรุ่นใหม

 

คดีที่ 3      อายัดเงินเดือน

               

หลัก  

ป.พ.พ.มาตรา 680       

               อันว่าค้ำประกันนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่ง เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น
               อนึ่ง สัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ป.พ.พ. มาตรา 693      

               ผู้ค้ำประกัน ซึ่งได้ชำระหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้เพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ย และเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใดๆ เพราะการค้ำประกันนั้น
               อนึ่ง ผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิ ของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วย

 

ป.วิ.พ. มาตรา 271      

               ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 285      

               ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปนี้ ย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี

               (1)     เครื่องนุ่งห่มหลับนอน หรือ เครื่องใช้ในครัวเรือน หรือ เครื่องใช้สอย ส่วนตัว โดยประมาณรวมกันราคาไม่เกินห้าหมื่นบาท ในกรณีที่ศาลเห็นสมควร ศาลจะกำหนดทรัพย์สินดังกล่าวที่มีราคาเกินห้าหมื่นบาท ให้เป็นทรัพย์สินที่ไม่ต้องอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีก็ได้ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงความจำเป็นตามฐานะของลูกหนี้ตามคำพิพากษา

               (2)     เครื่องมือ หรือ เครื่องใช้ ที่จำเป็นในการเลี้ยงชีพ หรือ ประกอบวิชาชีพ โดยประมาณ รวมกันราคาไม่เกินหนึ่งแสนบาท แต่ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษามีคำขอโดยทำเป็น คำร้องต่อศาล ขออนุญาตยึดหน่วง และ ใช้เครื่องมือ หรือ เครื่องใช้ อันจำเป็น เพื่อดำเนินการเลี้ยงชีพ หรือ การประกอบวิชาชีพ อันมีราคาเกินกว่าจำนวนราคาดังกล่าวแล้ว ให้ศาลมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจอนุญาตหรือไม่อนุญาต ภายในบังคับแห่งเงื่อนไขตามที่ศาลเห็นสมควร

ป.วิ.พ. มาตรา 286      

               ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น เงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปนี้ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี

               (1)     เบี้ยเลี้ยงชีพซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ และ เงินรายได้เป็นคราวๆ อันบุคคลภายนอกได้ยกให้ เพื่อเลี้ยงชีพเป็นจำนวนรวมกันไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท หรือ ตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร

               (2)     เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ บำเหน็จ และ เบี้ยหวัด หรือ รายได้อื่น ในลักษณะเดียวกัน ของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือ ลูกจ้าง ในหน่วยราชการ และ เงินสงเคราะห์ บำนาญ หรือ บำเหน็จ ที่หน่วยราชการ ได้จ่ายให้แก่ คู่สมรส หรือ ญาติ ที่ยังมีชีวิตของบุคคลเหล่านั้น

               (3)     เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์ หรือ รายได้อื่น ในลักษณะเดียวกัน ของ พนักงาน ลูกจ้าง หรือ คนงาน นอกจากที่กล่าวไว้ใน (2) ที่ นายจ้าง จ่ายให้แก่ บุคคลเหล่านั้น หรือ คู่สมรส หรือ ญาติ ที่ยังมีชีวิต ของบุคคลเหล่านั้น เป็นจำนวน รวมกันไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท หรือ ตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร           

               (4)     เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้รับอันเนื่องมาแต่ความตายของบุคคลอื่นเป็นจำนวนตามที่จำเป็นในการดำเนินการฌาปนกิจศพตามฐานะของ ผู้ตายที่ศาลเห็นสมควร

 

ข้อเท็จจริง

               A.      18 มีนาคม 2555 ตั้ม พนักงานการไฟฟ้า โทรหาพี่ทนายให้ช่วยเจรจาทวงหนี้จากเพื่อนที่ทำงานเดียวกันให้ที อีก 10 วันต่อมา นัดพบกัน ได้เห็นเอกสารพี่ทนายจึงทราบว่า เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 เจ้าพนักงานบังคับคดีกองอายัดทรัพย์สิน กรมบังคับคดี ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าการไฟฟ้า แจ้งเรื่องการอายัดสิทธิเรียกร้อง (อายัดเงิน) ของตั้ม จำเลยที่ 2 แล้วให้ส่งไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดี ดังนี้

                        1. เงินเดือน ค่าจ้าง ที่มีสิทธิได้รับก่อนหักรายจ่ายอื่น อัตราร้อยละ 30 โดยให้เหลือไม่น้อยกว่า 10,000 บาทต่อเดือน
                        2. เงินโบนัส อัตราร้อยละ 50
                        3. เงินตอบแทนกรณีจำเลย ออกจากงาน
                        4. (อื่นๆ) เงินตอบแทนการทำงานเป็นครั้งคราว (เช่น ค่าล่วงเวลา, เบี้ยเลี้ยง) ร้อยละ 30

               B.      คดีสืบเนื่องจาก เมื่อวันที่.....เดือนเมษายน 2553 นายรวยเป็นโจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 1 ผู้กู้ และนายตั้ม จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกัน เป็นคดี ผบ.ต่อศาลชั้นต้น กล่าวหาว่าผิดสัญญากู้เงิน ค้ำประกัน และเรียกเงินคืน จำนวนทุนทรัพย์ 160,000 บาท และศาลมีคำพิพากษาเมื่อ.....มิถุนายน 2553 ให้จำเลยทั้ง 2 ร่วมกันชำระเงินตามที่โจทก์ขอ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี กับให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท (ค่าขึ้นศาลที่เจ้าหนี้, ผู้ประกอบการ, โจทก์จ่ายไปประมาณ 6,000 บาท)

               C.      เจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งอายัดเงินเดือนของ ตั้ม จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกัน 30% จากเงินเดือน, ค่าไฟฟ้ารวม 41,000 บาท แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งอายัดเงินเดือนของผู้กู้คือจำเลยที่1 ซึ่งมีเงินเดือน, ค่าไฟฟ้ารวม 47,000 บาท สูงกว่าเงินเดือนของตั้ม เพราะโจทก์เจ้าหนี้ทราบดีว่า จำเลยที่ 1 มีภาระต้องส่งคืนเงินกู้สหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้า จนไม่มีเงินเดือนเหลือให้อายัดอีกแล้ว

               D.      .....มษายน 2555 นัดหมายเจรจาทวงหนี้ในห้องทำงาน หัวหน้างานของจำเลยทั้ง 2 พี่ทนายได้ข้อมูลว่า จำเลยที่ 1 ผู้กู้ มีปัญหาค่าใช้จ่ายเนื่องจากต้องใช้เงินในการรักษาโรคของภรรยามาก ทำให้รายได้ไม่พอใช้ มีปัญหาหนี้สินรุงรัง หัวหน้างานใจดีรับว่าจะช่วยดูแลให้จำเลยที่ 1 ผู้กู้หาเงินมาใช้ให้ ตั้ม จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันโดยเร็ว ในฐานะหัวหน้างานจะส่ง จำเลยที่ 1 ออกไปทำงานต่างจังหวัดเพื่อให้ได้เบี้ยเลี้ยงมากขึ้น และจำเลยที่ 1 รับว่าจะหาเงินกู้อื่นมาชำระหนี้ในคดีนี้ และชำระให้จำเลยที่ 2 ตั้ม ผู้ค้ำประกัน เพราะไม่สบายใจเลยและเกรงใจพี่ทนายที่ต้องมาหาถึงที่ทำงาน ก่อนกลับคณะของพี่ทนายได้ถ่ายรูปเหตุการณ์และทำบันทึกให้ทั้ง 2 ฝ่าย ลงลายมือชื่อต่อหน้าพยาน

               E.      เมื่อวานนี้.....พฤศจิกายน 2555 พี่ทนายได้พบหน้าตั้ม ตั้มบอกว่า จำเลยที่1 ได้กู้เงินนอกระบบชำระหนี้แล้ว ผมเข็ดจริงๆ เรื่องเป็นคนค้ำประกัน เพื่อนไม่รับผิดชอบเลย ปล่อยให้ผมถูกหักเงินเดือน ถ้าพี่ทนายไม่ช่วยคุยกับหัวหน้า เพื่อนก็เพิกเฉยตลอด ถ้าผมไม่ทวงกลัวมันจะลาออกก่อนเพราะมันมีหนี้มาก นี่คือคำพูดของดั้มที่พี่ทนายได้ยิน

 

               คดีนี้ ทีมทนาย Thai Law Consult ได้สรุปกันว่า

1)      มีหนี้ ต้องทวงถามครับอย่าเพิกเฉย                   
2)      ทนายทวงถาม มีอำนาจกดดันลูกหนี้มากกว่า เจ้าหนี้ทวงถามเอง  
3)      และอย่าค้ำประกัน ถ้าไม่จำเป็น ท่องไว้ครับ
4)      คำแนะนำ ทนายความรุ่นใหม่ เมื่อจะทวงหนี้ต้องศึกษาข้อเท็จจริงของคดี ทั้งมูลหนี้ และโอกาสในการได้รับชำระ

               คดีนี้ ทนายได้นัดหมายหัวหน้างานล่วงหน้า 12 วัน หัวหน้างานได้หาทางออกของคดีไว้บ้างแล้ว และการทวงหนี้ เจรจาหนี้ในที่ทำงานของลูกหนี้ ต่อหน้าผู้บังคับบัญชา มีความกดดันลูกหนี้ให้รับผิดชอบเร่งชำระหนี้โดยเร็ว เมื่อตั้มได้รับชำระหนี้แล้วทั้งจำนวน หน้าที่ของพี่ทนายก็สิ้นสุดไปอีกคดี ความเครียดของพี่ทนายลดลง เก็บพลังงานของสมองไว้คิดเรื่องอื่นต่อไปครับ

 

(ทีมงาน Thai Law Consult ได้นำฎีกาที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการบังคับคดี มาลงไว้ให้ท่านผู้อ่านได้ศึกษาเพิ่มเติมแล้ว ครับ)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5829/2548

ป.วิ.พ. มาตรา 271

          ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์เป็นงวด ๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 31 ตุลาคม 2534 หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที เมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ตั้งแต่งวดแรก ระยะเวลาการบังคับคดีของโจทก์จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2534 การที่จำเลยทั้งสองนำเงินมาชำระบางส่วนให้แก่โจทก์วันที่ 25 ธันวาคม 2537 ไม่มีผลทำให้การเริ่มนับระยะเวลาการบังคับคดีของโจทก์เปลี่ยนแปลงไป เมือ่โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 วันที่ 21 ตุลาคม 2546 จึงล่วงเลยเวลา 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 โจทก์ย่อมหมดสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2

________________________________

          คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยมีข้อตกลงว่า จำเลยทั้งสองยอมชำระหนี้แก่โจทก์ 19,181.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี ของต้นเงิน 13,967.72 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จโดยผ่อนชำระทุกวันสิ้นสุดของเดือน เดือนละไม่น้อยกว่า 700 บาท ภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ เริ่มชำระงวดแรกเดือนตุลาคม 2534 หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมวันที่ 17 กันยายน 2534 คดีถึงที่สุดแล้ว หลังจากนั้นวันที่ 17 สิงหาคม 2535 โจทก์ยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ โดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี
          ต่อมาวันที่ 25 พฤศจิกายน 2546 โจทก์ยื่นคำร้องว่าโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2546 แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ดำเนินการให้อ้างว่าโจทก์ไม่ขอให้บังคับคดีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งไม่ถูกต้องเนื่องจากจำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้บางส่วนให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2547 โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้บังคับคดีได้ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2537 เป็นต้นไป การที่โจทก์ขอให้บังคับคดีเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2546 จึงไม่เกิน 10 ปี ขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีและให้ดำเนินการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ต่อไป
          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
          โจกท์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์หมดสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องดำเนินการบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์เป็นงวด ๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 31 ตุลาคม 2534 หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที เมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ตั้งแต่งวดแรก ระยะเวลาการบังคับของโจทก์จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2534 การที่จำเลยทั้งสองนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์วันที่ 25 ธันวาคม 2537 ไม่มีผลทำให้การเริ่มนับระยะเวลาการบังคับคดีของโจทก์เปลี่ยนแปลงไป เมื่อโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 วันที่ 21 ตุลาคม 2546 จึงล่วงเลยเวลา 10 ปี ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าว โจทก์ย่อมหมดสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
          อนึ่ง ศาลชั้นต้นมัคำสั่งคำร้องฉบับลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2546 ของโจทก์โดยมิได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมและศาลอุทธรณ์ภาค 6 มิได้พิพากษาแก้ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 ประกอบมาตรา 141 (5) ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ

( สมชาย จุลนิติ์ - มานะ ศุภวิริยกุล - ชาลี ทัพภวิมล )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6053/2550

ป.วิ.พ. มาตรา 271, 290

          ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ของการบังคับคดีตามกฎหมายให้ครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี การที่ผู้ร้องนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงขั้นตอนการบังคับคดี ไม่ทำให้ระยะเวลาบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ขยายออกไป
          ผู้ร้องได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 1 แต่เป็นการยึดซ้ำจึงไม่มีผลเป็นการยึดตามกฎหมาย เมื่อผู้ร้องมิได้ดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาจนเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลจังหวัดกำแพงเพชรมีคำพิพากษา ผู้ร้องย่อมสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ผู้ร้องไม่มีสิทธิที่จะร้องขอเฉลี่ยทรัพย์จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ เพราะการขอเฉลี่ยทรัพย์เป็นการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 อย่างหนึ่งเช่นกัน

________________________________

          คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,047,362 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 กันยายน 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ทั้งนี้จำกัดต้นเงินเพียงไม่เกิน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3285 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนกว่าจะครบถ้วน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
          ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 673/2537 ของศาลจังหวัดกำแพงเพชร ระหว่างนายบัว โสพันธ์ โจทก์ นายรักขิต ปินตาเขียว จำเลย ซึ่งศาลจังหวัดกำแพงเพชรมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2537 ให้จำเลย (จำเลยที่ 1 คดีนี้) ชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ (ผู้ร้องคดีนี้) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2547 ผู้ร้องได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลย (จำเลยที่ 1 คดีนี้) คือที่ดินโฉนดเลขที่ 9923 ต่อมาผู้ร้องได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงรายว่า โจทก์คดีนี้ได้ยึดทรัพย์ดังกล่าวของจำเลย (จำเลยที่ 1 คดีนี้) ไว้ก่อนแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่ผู้ร้องจะบังคับคดีได้ ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยที่ 1 หรือเฉลี่ยเงินที่ขายหรือจำหน่ายที่ดินของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว หากมีการถอนการยึดทรัพย์หรืองดการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ก่อนมีการขายทอดตลาดไม่ว่ากรณีใด ผู้ร้องขอบังคับคดีต่อไป
          โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ศาลจังหวัดกำแพงเพชรได้มีคำพิพากษาในคดีที่ผู้ร้องเป็นโจทก์เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2537 ผู้ร้องมิได้ขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา โดยยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2548 ซึ่งเกินกำหนดระยะเวลา 10 ปี ที่ผู้ร้องจะดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 การขอเฉลี่ยทรัพย์เป็นการบังคับคดีอย่างหนึ่ง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ที่โจทก์บังคับคดี ขอให้ยกคำร้อง
          ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์ได้ตามคำร้อง ใหเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ
          โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่ผู้ร้องได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลฎีกาพอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 673/2537 ของศาลจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2537 คดีถึงที่สุดแล้ว วันที่ 25 มิถุนายน 2547 ผู้ร้องยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 คือที่ดินโฉนดเลขที่ 9923 ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ต่อมาวันที่ 22 เมษายน 2548 สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงรายได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องทราบว่าที่ดินแปลงดังกล่าวถูกยึดไว้ก่อนแล้วในคดีนี้ ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เข้ามาในคดีนี้เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2548 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าผู้ร้องมีสิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ได้หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นการร้องขอให้บังคับคดีจึงต้องกระทำภายในกำหนด 10 ปี ตามบทบัญญัติดังกล่าว ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ของการบังคับคดีตามกฎหมายให้ครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี การที่ผู้ร้องได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 แล้วนั้นก็เป็นเพียงขั้นตอนของการบังคับคดี หาทำให้ระยะเวลาบังคับคดีตามกฎหมายขยายออกไปแต่อย่างใด หากผู้ร้องยังประสงค์จะนำยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดนำมาชำระหนี้หรือขอบังคับคดีต่อไปจะต้องกระทำภายในระยะเวลาดังกล่าว แม้จะได้ความว่าเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2547 ผู้ร้องได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 1 และต่อมาปรากฏว่าการยึดที่ดินดังกล่าวเป็นการยึดซ้ำจึงไม่มีผลเป็นการยึดตามกฎหมาย เมื่อผู้ร้องมิได้ดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาจนเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลจังหวัดกำแพงเพชรมีคำพิพากษา ผู้ร้องย่อมสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ผู้ร้องไม่มีสิทธิที่จะร้องขอเฉลี่ยทรัพย์จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ เพราะการขอเฉลี่ยทรัพย์เป็นการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 อย่างหนึ่งเช่นกัน ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ได้ตามคำร้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
          อนึ่ง ศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้จึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 ที่กำหนดให้ศาลต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
          พิพากษากลับให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ

( ชาลี ทัพภวิมล - สมศักดิ์ จันทรา - ชูเกียรติ ตันทวีวงศ์ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2541/2545

ป.พ.พ. มาตรา 653
ป.วิ.พ. มาตรา 286
พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494

          การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทยฯ ไม่ขึ้นอยู่กับกระทรวงทบวงกรมใด รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่เพียงกำกับโดยทั่วไปหามีอำนาจร่วมจัดกิจกรรมและควบคุมดูแลโดยตรงไม่ แสดงอยู่ในตัวว่าเป็นการแยกกิจการการรถไฟฯ ออกจากรัฐบาลเป็นเอกเทศต่างหาก ทั้งการรถไฟฯยังจัดทำงบประมาณประจำปีของตนเอง ไม่รวมอยู่ในงบประมาณแผ่นดินอีกด้วยจำเลยเป็นลูกจ้างของการรถไฟฯ ซึ่งผู้ว่าการรถไฟฯ มีอำนาจแต่งตั้ง ถอดถอนเลื่อนหรือลดขั้นเงินเดือนและรับรายได้เป็นเดือนจากงบประมาณของการรถไฟฯ ซึ่งมิใช่เงินจัดสรรงบประมาณเหมือนข้าราชการและลูกจ้างของรัฐบาล จำเลยจึงหาใช่ลูกจ้างของรัฐบาลตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(2)ไม่ ดังนั้น สิทธิเรียกร้องเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ของจำเลยที่มีต่อการรถไฟฯผู้เป็นนายจ้าง จึงตกอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(3) เมื่อจำเลยเป็นหนี้โจทก์600,000 บาท การที่ถูกอายัดยอดเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) เพียงเดือนละ8,000 บาทเศษ จึงนับว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว

________________________________

          คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้ยืมจำนวน 634,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยขอให้อายัดเงินสงเคราะห์ที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื่องจากจำเลยได้พ้นจากการเป็นพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าว ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 600,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 300,000 บาท นับแต่วันที่5 สิงหาคม 2540 และของต้นเงินจำนวน 300,000 บาท นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2540เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
          ต่อมาปรากฏว่าจำเลยมีสิทธิได้รับเงินบำนาญจากการรถไฟแห่งประเทศไทยเดือนละ 12,000 บาทเศษ และการรถไฟแห่งประเทศไทยได้หักเงินบำนาญของจำเลยเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2541 เป็นเงิน 8,194.84 บาท และในเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน 2541 หักไว้เดือนละ 8,074.84 บาท ทุกเดือนเป็นต้นมา ส่งมาตามหมายอายัดของศาลชั้นต้น โดยจะจ่ายเงินแก่จำเลยเดือนละประมาณ 4,000 บาท
          จำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 3 ธันวาคม 2541 ขอให้เพิกถอนหมายอายัดเงินสงเคราะห์ประเภทบำนาญของจำเลยที่มีต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย อ้างว่าเงินบำนาญของจำเลยไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286
          ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว ให้ยกคำร้อง
          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
          จำเลยฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของการรถไฟแห่งประเทศไทยจะถือได้หรือไม่ว่าเป็นลูกจ้างของรัฐบาลตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(2) เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 286 เป็นข้อยกเว้นความรับผิดแห่งการบังคับคดีจะต้องตีความโดยเคร่งครัดจำเลยในคดีนี้เป็นลูกจ้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 ไม่ขึ้นอยู่ในกระทรวงทบวงกรมใดของรัฐบาล มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไป ผู้ว่าการมีอำนาจแต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อนขั้นและลดขั้นเงินเดือนของพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่เพียงกำกับโดยทั่วไปเท่านั้น หามีอำนาจร่วมจัดกิจการและควบคุมดูแลโดยตรงไม่ นอกจากนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยยังจัดทำงบประมาณประจำปีของตนเอง ไม่รวมอยู่ในงบประมาณแผ่นดิน และยังมีกฎหมายแยกกิจการรถไฟแห่งประเทศไทยออกเป็นนิติบุคคลต่างหาก ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าเป็นการแยกการรถไฟแห่งประเทศไทยออกจากรัฐบาลเป็นเอกเทศต่างหาก หากรัฐประสงค์จะคุ้มครองการรถไฟแห่งประเทศไทยและลูกจ้างเป็นกรณีพิเศษก็จะต้องบัญญัติกฎหมายไว้โดยชัดแจ้ง จำเลยเป็นลูกจ้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยมีอำนาจแต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อนหรือลดขั้นเงินเดือน และรับรายได้เป็นเดือนจากงบประมาณของการรถไฟแห่งประเทศไทย มิใช่จากเงินจัดสรรงบประมาณเหมือนข้าราชการและลูกจ้างของรัฐบาล จำเลยจึงหาใช่ลูกจ้างของรัฐบาลตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(2) ไม่ เมื่อจำเลยมิใช่ลูกจ้างของรัฐบาล ดังนั้น สิทธิเรียกร้องในเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ของจำเลยที่มีอยู่ต่อการรถไฟแห่งประเทศไทยผู้เป็นนายจ้างจึงตกอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(3) จำเลยเป็นหนี้โจทก์ถึง 600,000บาท เมื่อพิเคราะห์ตามพฤติการณ์แห่งคดีมาพิจารณาประกอบกับฐานะทางครอบครัวของจำเลย การอายัดเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ในจำนวนดังกล่าวเพียงเดือนละ8,074.84 บาท นับว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น"
          พิพากษายืน

( ทวีวัฒน์ แดงทองดี - พินิจ เพชรรุ่ง - โนรี จันทร์ทร )

 

(ฎีกาเหล่านี้ทีมทนายความ Thai Law Consult นำมาจากระบบสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา 1-11-55)